สอนลูกอย่างไรดี.

  • 10
  • พ.ค.
    2563
  • Tags
  • Education

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการสอบสาธิตต้องเตรียมตัวกันเป็นปี ควรตั้งเป้าหมายว่าจะให้ลูกสอบที่สาธิตไหนเพราะในแต่ละสาธิตจะมีแนวการสอบหรือวิชาที่เน้นแตกต่างกันไป ดังนั้นควรปูพื้นฐานกันตั้งแต่อนุบาล 1 จนถึงอนุบาล 3 เลย มีแนวทางที่ คุณพ่อ คุณแม่ หลายๆ ท่านได้ใช้มาแล้วและได้ผล ทางทีมงานจึงขอสรุปมาพอเป็นแนว ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ คงจะต้องปรับใช้ให้เหมาะกับน้องๆ แต่ละคน และที่สำคัญต้องตรวจสอบปี พ.ศ. ที่น้องเกิดว่าจะต้องสอบในปี พ.ศ. ใด จะทำให้ทราบว่าน้องเรียนอยู่ในระดับอนุบาลไหน จะได้เตรียมความพร้อมให้น้องถูก.

อนุบาล 1

  • ใช้กล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย กิจกรรมที่ดีก็ควรเป็นการวาดรูป ระบายสีภาพต่างๆ
  • การสร้างพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจ โดยใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวประกอบจังหวะเสียงเพลง การร้องเพลง จะช่วยในเรื่องการสร้างสมาธิได้ดีและจะทำให้เด็กนิ่งได้
  • การเล่นที่มีส่วนส่งเสริมทักษะทางด้านการคิดแก้ปัญหาต่างๆ เช่นตัวต่อ จิกซอร์ คานช่างน้ำหนัก หรือของเล่นอื่นๆ ที่มีการผลิตมาขายใหม่ที่จะส่งเสริมเรื่องนี้ได้ดี
  • การทำแบบฝึกหัดง่ายๆ ที่เหมาะสมกับเด็กอนุบาล 1 ก่อน เช่น จับคู่ภาพ ภาพเหมือน ภาพแตกต่าง การเปรียบเทียบมาก น้อย ถ้าทำได้ดี จึงเพิ่มความยากขึ้นไปอีก แต่ควรจะเหมาะกับวัยเพราะถ้าน้องทำได้น้องก็จะไม่เบื่อง่ายและควรพูดให้กำลังใจ ชมเชยตามความเหมาะสมจะทำให้น้องชอบทำแบบฝึกหัด
  • อ่านนิทานให้ฟังทุกวัน จะเป็นการสร้างจินตนาการและสมาธิให้กับน้องๆ และที่สำคัญจะได้ทักษะของการฟัง ให้ตั้งคำถามง่ายๆ จากการฟังก่อนแล้วค่อยเพิ่มกระบวนการคิดวิเคราะห์เหตุการณ์ในเรื่องที่เล่า โดยช่วงแรกอาจจะบอกจุดที่จะต้องถามก่อนก็ได้เพื่อเป็นจุดสังเกต ไอสไตน์ ได้กล่าวไว้ว่าจินตนาการณ์สำคัญกว่าความรู้ จินตนาการณ์นี้สร้างได้จากการฟังนิทาน ยิ่งฟังมากเด็กก็จะฉลาด ยิ่งฟังซ้ำจะช่วยพัฒนาเซลสมองให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของน้องๆ ในอนาคตได้ดี
  • ฝึกการใช้เหตุผล ต้องรับฟังความคิดเห็นของน้องๆ ถึงจะยังไม่ถูกต้องเพราะสิ่งที่เราต้องการคือกระบวนการคิดด้วยเหตุผลของตัวน้องเอง ถ้ายังไม่ถูกเราค่อยๆปรับกระบวนการคิดของน้องๆ ให้ถูกต้องสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้น้องๆ คิดเป็นเมื่อพบสถานการณ์ต่างๆ ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง
  • การพาไปเที่ยวสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือสถานที่ต่างๆ ช่วยเสริมสร้างความรู้และประการณ์ใหม่ๆ และกลับมาบ้านลองถามดูว่าวันนี้ไปที่ไหนมาบ้าง พบเห็นสิ่งใดบ้าง เป็นการพัฒนาความจำไปในตัว
  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วนทั้งห้าหมู่ พักผ่อน ออกกำลังกายให้เพียงพอ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง การเรียนรู้ก็จะไปได้ดี
  • การพูดคุยเรื่องต่างๆ ที่น้องๆ ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน เรื่องที่โรงเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องคุณครู การทานอาหาร จะช่วยให้น้องๆ สามารถเล่าเรื่องต่างๆ ช่วยพัฒนาทักษะการใช้ภาษาได้ดีขึ้นทุกวัน สิ่งเหล่านี้ควรทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน

อนุบาล 2-3

  • ถ้าน้องต้องสอบตอนจบอนุบาล 2 คุณพ่อ คุณแม่ ต้องประเมินน้องได้ว่าจะให้สอบที่สาธิตไหน เพราะบางครั้งต้องไปสอบแข่งกับเด็กที่จบอนุบาล 3 ก็จะเสียเปรียบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่แน่เสมอไปเพราะได้สอบถามกับท่านสมาชิกเว็ปสอบสาธิตลูกจบอนุบาล 2 แต่สามารถสอบติดทั้งสาธิตจุฬา และสาธิตประสานมิตร ถ้าคิดว่าน้องไปสอบในระดับอนุบาล 2 ด้วยกันแล้วยังมีโอกาสสูงกว่าก็ควรพิจารณาดู เพราะท่านน่าจะทราบความพร้อมของลูกดีที่สุด
  • สมมุติว่าน้องต้องสอบในเดือน มี.ค. ปี 2553 ควรเริ่มทำแบบฝึกหัดตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2552 ได้แล้ว แต่อย่ายากจนน้องๆ ทำไม่ได้ควรให้เหมาะกับเด็กอนุบาลและอย่าบีบบังคับเพราะจะทำให้น้องๆ ไม่อยากทำหรือไม่ตั้งใจทำ และคุณพ่อ คุณแม่ ต้องไม่แสดงอาการโมโห ฉุนเฉียว ให้น้องๆ เห็น หรืออย่าตีหรือดุ เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ทำให้เสียเวลากันทั้งสองฝ่าย ควรจะหยุดหรือทำอย่างอื่นที่น้องสนใจมากกว่า ให้น้องๆ ทำด้วยความสนุกและตั้งใจ ถึงแม้จะทำในเวลาสั้นๆ ก็จะได้ประโยชน์มากกว่าที่น้องไม่ตั้งใจทำ ตรงนี้สำคัญมากเพราะถ้าเริ่มต้นไม่ดีแล้วต่อไปจะทำให้ล้มเหลวได้
  • การฟังนิทานลองให้ฟังเรื่องที่ยาวขึ้น ตัวละครมากขึ้น ให้ทำกระดาษคำตอบแบบมีตัวเลือก อาจจะเป็น ก. ข. ค. ง. หรือ 1. 2. 3. 4. ก็ได้ ให้ดูรายละเอียดในแต่ละสาธิตว่ากระดาษคำตอบเป็นแบบใดก็ให้ทำแบบนั้น และให้น้องๆ ลองฝึกตอบในกระดาษคำตอบว่าตอบได้ถูกต้องหรือไม่ การฝึกนี้ควรทำให้เคยชินทุกวัน
  • ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น ตอนไปส่ง หรือไปรับจากโรงเรียน สอนสิ่งที่พบเห็นว่าน้องทราบหรือไม่ ถ้าทราบแล้วก็เป็นการทบทวนไปในตัว เพราะแนวข้อสอบสาธิตบางครั้งก็เอาสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาออกข้อสอบ เพียงแต่ว่าน้องจะทราบหรือไม่
  • ใช้เวลาตอนเย็นหลังเลิกเรียน และวันเสาร์ อาทิตย์ ให้น้องๆ ทำแบบฝึกหัดทุกวัน วันละ 20 – 30 ข้อ ถ้าน้องทำได้มากว่านี้ก็ยิ่งดี แต่ขอเน้นให้น้องทำด้วยความสนุกอย่าบีบบังคับจะทำให้น้องคิดไม่ออกและไม่อยากทำ
  • การทำแบบฝึกหัดที่ต้องใช้จินตนาการสูงเช่นการนับกล่องที่วางซ้อนทับกัน การหมุนของภาพแบบต่างๆ คานน้ำหนัก ควรทำอุปกรณ์ช่วยในการเรียนรู้หรือสื่อการเรียนจะทำให้น้องเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
  • การทดสอบก่อนการสอบจริง สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญเราควรทำการทดสอบเด็กเป็นช่วงๆ ว่าสิ่งที่เราได้สอนไป หรือไปเรียนพิเศษมาเขาทำได้หรือไม่ โดยการนำข้อสอบที่เคยทำไปแล้วหรือที่เรียนพิเศษมาลองให้ทำสัก 40 – 60 ข้อ โดยทำเหมือนสอบจริงให้ทำในกระดาษคำตอบและจับเวลาในการสอบ ถ้ามีสมาธินั่งทำข้อสอบได้นานประมาณหนึ่งชั่วโมงขึ้นไปและทำได้ถูกต้องก็มีโอกาสที่จะติดสูง สังเกตดูว่าจะต้องมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เช่น ยังมีสมาธิไม่นานพอ การตอบคำถามในกระดาษคำตอบยังไม่ถูกข้อ ให้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น หรือถ้ายังทำข้อสอบไม่ถูกต้องควรสอบถามหลักการคิดว่าคิดอย่างไรแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้เด็ก ควรทำการทดสอบจริงอย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อจะได้คุ้นเคยกับการสอบและจะได้วัดผลการเรียนไปในตัว ควรทำเป็นสถิติเก็บไว้ดูด้วยว่ามีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง
  • ลองส่งลงสนามสอบจริงบ้าง เพราะมีบางโรงเรียน หรือบางสาธิตที่สอบก่อน เช่น สาธิตราม จะสอบก่อนสาธิตจุฬา เกษตร และประสานมิตร เพื่อทดสอบความสามารถ และหาประสบการณ์ดูจะได้เป็นการเตรียมความพร้อมไปในตัวด้วย
  • ก่อนนอนฝึกให้น้องสวดมนต์ อธิฐานให้น้องพูดออกมาดังๆ ว่าขอให้สอบติดสาธิตที่ต้องการ เพราะจะเป็นการสร้างแรงจูงใจ ทำให้เกิดความมุ่งมั่น และสร้างสมาธิ ถ้านั่งสมาธิได้ยิ่งดีมาก สิ่งนี้ควรทำทุกวันเหมือกับการอ่านนิทาน
  • ก่อนสอบ 1- 2 วันต้องดูแลเรื่องสุขภาพให้ดีอย่างให้เจ็บป่วยได้ เพราะจะทำให้สิ่งที่เตรียมมาเป็นปีๆ เสียเปล่า และพักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ ทำให้ลูกมีความสุขไม่ต้องทบทวนหรือทำแบบฝึกหัดแล้วเพราะสิ่งที่ท่านทำมาเป็นปีๆ เพียงพอแล้ว
  • อย่าลืมเรื่องแผนการเดินทางในวันสอบว่าสอบเช้า หรือบ่าย ให้น้องทานอาหารที่น้องชอบ เข้าห้องน้ำ ให้เรียบร้อย เวลาไปส่งเด็กห้องสอบ ให้ท่านเตรียมตัวหาอะไรคลายร้อนให้เด็กๆด้วยเช่น พัด ผ้าเย็น น้ำดื่ม เพราะอากาศในช่วงเดือนนี้ร้อนมาก เด็กอาจจะเครียดและไม่มีสมาธิในการทำข้อสอบได้ ก่อนเข้าห้องสอบพูดให้กำลังใจ เพื่อให้เขาได้รู้สึกดี สิ่งเหล่านี้คุณพ่อ คุณแม่ทราบดีอยู่แล้ว แล้วก็รอวันประกาศผลสอบอย่างสบายใจ คุณพ่อ คุณแม่ท่านได้ทำได้แบบนี้ ทางเว็ปสอบสาธิตดอทคอมขอแสดงความยินดีไว้ล่วงหน้า

แนวภาษาไทย

            คำออกเสียงพยัญชนะต้น คำที่มีตัวสะกดเหมือนกัน การเขียนคำที่พบเห็นเป็นประจำ เช่น โรงเรียน บ้าน ลองวางแผนการสอนของท่านดู เช่น ในหนึ่งปีมี 52 สัปดาห์ แล้วในแต่ละหัวข้อท่านจะสอนสัปดาห์ไหน วันไหน เวลาไหน ตามความเหมาะสมของคุณเอง และควรมีการทำซ้ำด้วย ถ้าไม่เช่นนั้นกว่าจะสอบรับรองลืมแน่ ๆ ควรจะทำแบบฝึกหัดหลายๆ เรื่องในแต่ละวัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำให้เด็กรู้สึกสนุก และมีความสุข ห้ามบังคับเด็ดขาด

เรื่องที่น้องควรจะฝึกทำพอสรุปได้ดังนี้

  • เรื่องอนุกรม เช่น อนุกรมวงกลม อนุกรมแถวเดี่ยว อนุกรม 9 ช่อง แบบเดี่ยว แบบคู่
  • กล่อง
  • ความสัมพันธ์ 2 แกน
  • ตาราง 9 ช่อง
  • ความสัมพันธ์ในวงกลม
  • จับคู่ตามความสัมพันธ์
  • โดมิโน
  • คานน้ำหนัก
  • นับบล็อกหรือกล่อง
  • บล็อกนี้คือชิ้นไหน
  • บล็อกนี้ติดกับชิ้นไหน
  • บล็อกนี้ติดกันกี่ชิ้น
  • ภาพเหมือน-ต่าง
  • ภาพตรงข้าม
  • ภาพ 2-3 มิติ
  • ภาพกับเงา
  • ภาพซ่อน
  • ภาพซ้อน
  • ภาพต่อเนื่อง
  • ภาพตัดต่อ
  • ภาพประกอบ
  • ภาพสะท้อน
  • ภาพปั๊ม stamp
  • ภาพหมุน
  • ภาพหมุนองศาต่างๆ
  • ภาพหายไปจากชุด
  • ภาพหายไปจากลำดับ
  • ภาพเงา
  • ภาพเงาซ้อน
  • ต่อลายภาพ 2 มิติ
  • ต่อลายภาพ 3 มิติ
  • หาภาพหาย
  • เพิ่มเท่าๆ กัน
  • ลดเท่าๆ กัน
  • ลูกเต๋า
  • ลำดับเหตุการณ์
  • หาทางออก
  • ตัดบางส่วน
  • พับ-ตัด 2 ส่วน
  • พับ-ตัด 4 ส่วน
  • พับเจาะ
  • แบ่งเท่าๆ กัน
  • ปริมาตร
  • เปรียบเทียบน้ำหนัก
  • พื้นที่
  • จำนวน
  • ความยาว
  • ความสูง
  • จม-ลอย
  • ด้านขวา-ด้านซ้าย
  • ทิศทางลมพัด
  • แสงกับเงา
  • เวลา-นาฬิกา
  • มองด้านข้าง
  • มองด้านบน
  • สิ่งที่เด็กควรรู้
  • จริยธรรม-เด็กดี
  • แทนค่าน้ำหนัก
  • ระยะทาง
  • เวลาสัมพันธ์กับกิจกรรม
  • ระดับน้ำ
  • แบ่งสัดส่วน
  • ลากเส้นตามแบบ
  • เซ็ต

ฟังเนื้อเรื่อง

  • ตอบคำถามจากเนื้อเรื่อง
  • สรุปใจความของเรื่อง
  • วิเคราะห์เหตุผล